ในยุคสมัยปัจจุบัน เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จัก ‘คริปโตฯ’ โดยคริปโตฯ นั้น ทำงานอยู่บนระบบบล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความมั่นคง ปลอดภัย และน่าเชื่อถือ โดยการทำธุรกรรมจะไม่อาศัยคนกลาง ทำให้ข้อมูลไม่คลาดเคลื่อน หรือปลอมแปลงได้ หลายคนจะเข้าใจว่า บล็อกเชนมีส่วนสำคัญในการสร้างเหรียญ และโอนย้ายเพื่อทำการเทรดเท่านั้น แต่บล็อกเชนมีส่วนประกอบสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย นั่นคือ ‘Smart Contract’
Smart Contract คืออะไร ?
Smart Contract หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สัญญาอัจฉริยะ คือ ชุดคำสั่งที่ถูกรันบนบล็อกเชน โดยเราสามารถกำหนดเงื่อนไขเองได้ว่าต้องการให้มันทำอะไร ถูกคิดค้นตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1994 โดยนาย Nick Szabo ผู้คิดค้น Bit Gold สกุลเงินเสมือน (Virtual Currency) ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นต้นแบบของ Bitcoin เมื่อนำแนวคิดของสัญญาอัจฉริยะมาประยุกต์ใช้กับบล็อกเชนจึงเกิดการพัฒนาไปอีกระดับ หรือที่เรียกว่า ‘Blockchain 2.0’ แต่สามารถใช้ได้แค่ในเรื่องของการโอนเงินเท่านั้น
ตัวอย่างการใช้ในชีวิตประจำวัน
ตัวอย่างง่าย ๆ สมมติเราต้องการโอนเงินจำนวนหนึ่งจากบัญชีของเราไปยังบัญชีของเพื่อน ถ้าโดยปกติแล้วเราต้องทำการโอนผ่านธนาคาร ซึ่งเราไม่สามารถทราบได้เลยว่า ธนาคารมีขั้นตอนหรือเขียนโค้ดอย่างไรในการกำหนดคำสั่ง เรามีหน้าที่แค่เชื่อใจธนาคาร ในทางกลับกัน หากเป็นในแง่ของสัญญาอัจฉริยะ เราจะสามารถตรวจสอบการทำธุรกรรม หรือโค้ดนั้นได้ด้วยตนเองแบบไม่ผ่านตัวกลางใด ยิ่งไปกว่านั้น เราสามารถกำหนดได้ด้วยว่า จะให้บัญชีที่โอนไปคืนตอนไหน และเมื่อถึงกำหนดเวลาแต่ไม่มีการโอนคืน ระบบจะทำการยกเลิกคำสั่ง และเงินถูกตีคืนทันที เนื่องจากเป็นการเขียนโค้ด ดังนั้น ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเงื่อนไข และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ส่งผลให้เกิดการทุจริตขึ้นได้ยาก รวมถึงเราสามารถตรวจสอบได้ก่อนที่จะเกิดการแลกเปลี่ยน
หลังจากนั้น สัญญาอัจฉริยะจึงกลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่อ Ethereum ถูกสร้างขึ้นโดยนาย Vitalik Buterin และเปิดตัวในปี 2015 ได้ขยายขอบเขตของสัญญาอัจฉริยะมาใช้กับเรื่องของเอกสาร และเปิดพื้นที่ให้เหล่านักพัฒนาสามารถเข้ามาเขียนโปรแกรมได้ง่ายกว่าเครือข่าย Bitcoin
สมมติว่า Steph จะซื้อรถจาก Mira ในกรณีที่ไม่มีสัญญาอัจฉริยะ เมื่อ Steph โอนเงินแล้ว Mira ก็ต้องทำการตรวจสอบด้วยตนเองว่า เงินเข้าจริงหรือโอนครบตามที่ตกลงหรือไม่ ก่อนที่จะทำการโอนสิทธิ์เป็นเจ้าของรถยนต์ให้กับ Steph แต่ถ้าหากใช้สัญญาอัจฉริยะ เมื่อ Steph โอนเงินให้ครบตามที่ตกลงกันแล้ว สัญญาอัจฉริยะก็จะดำเนินการด้วยตนเอง และทำการโอนสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของรถยนตร์จาก Mira ให้กับ Steph โดยอัตโนมัติ ถือว่าสะดวกและปลอดภัยมาก
สรุปประโยชน์ของ Smart Contract กันอีกรอบ
ตามตัวอย่างด้านบนจะเห็นได้ว่า การใช้สัญญาอัจฉริยะสามารถตัดตัวกลางและลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นระหว่างการทำธุรกรรมออกไปได้ นอกจากนี้ การที่สัญญาอัจฉริยะเป็นโปรแกรมที่วิ่งอยู่บนบล็อกเชน หมายความว่า สัญญาอัจฉริยะได้สืบทอดคุณสมบัติของบล็อกเชนมาทั้งหมด เช่น เรื่องของความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใส การตรวจสอบย้อนหลังได้ และปลอดภัย ซึ่งเป็นพื้นฐานของบล็อกเชนนั่นเอง
- ข้อมูลที่บันทึกไว้จะอยู่ตลอดไป หากมีการเปลี่ยนแปลงสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้
- ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
- สามารถตรวจสอบโค้ด หรือการทำธุรกรรมได้ด้วยตนเอง
- ทำงานและยืนยันตามเงื่อนไขที่ระบุไว้อัตโนมัติ
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อถกเถียงอยู่มากว่า หากเกิดการรันโค้ดผิดพลาด หรือโค้ดถูกทำลายจะสามารถฟ้องร้องระบบบล็อกเชนได้หรือไม่ ดังนั้น สัญญาอัจฉริยะจำเป็นต้องถูกพัฒนาต่อในอนาคต เพื่อให้ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด และจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาอำนวยความสะดวกด้านการเงิน และเอกสารให้แก่โลกของเราอย่างแน่นอน
Source: Token-Information
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่: Traderbobo
อ่านรีวิวโบรกเกอร์เพิ่มเติมได้ที่: Review Broker